ปอยส่างลองเวียงแหง เอกลักษณ์ชาวไทใหญ่
วันที่เขียน 25/6/2559 23:43:32     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 29/3/2567 3:13:45
เปิดอ่าน: 22360 ครั้ง

ปอยส่างลองเป็นประเพณีการบวชสามเณรภาคฤดูร้อนของชาวไทใหญ่ ซึ่งมีการจัดขึ้นในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ โดยอำเภอเวียงแหงก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีชาวไทใหญ่อาศัยอยู่และมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย "ปอยส่างลอง"ก็เป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่งที่มีการจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานสำคัญของคนในชุมชนเวียงแหงเป็นอย่างมาก

ปอยส่างลอง เวียงแหง เอกลักษณ์ชาวไทใหญ่ 

 ปรมินทร์  นาระทะ ... ผู้เล่า

            ณ ดินแดนแห่งขุนเขาทางตอนเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ จะมีใครรู้หรือไม่ว่า ยังมีเมืองเล็กๆ ที่ยังคงความมีเสน่ห์น่าชวนให้ค้นหาอยู่ หากแต่ว่าใครหลายคนได้มองข้ามความสำคัญที่เกิดขึ้นในเมืองนั้นไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งใครจะรู้ว่าแค่เมืองเล็กๆ แต่มีหลากหลายเรื่องราวรอท่านผู้หลงใหลการเดินทางให้มาเยือนยังดินแดนแห่งนี้

            “เวียงแหง” เป็นอีกอำเภอหนึ่งที่ใครหลายคนอาจจะเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้าง และเคยมาเยือนยังดินแดนแห่งนี้กันบ้างแล้ว แต่สำหรับใครอีกหลายๆคนที่ยังไม่รู้จัก ได้ยินชื่อก็คง    แปลกใจอยู่ไม่น้อย ว่าจะมีอะไรที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวให้ไปเยือนกันนัก เทือกเขาสูงผ่านแนวสนและยอดดอยที่ห่างไกลความเจริญ เวียงแหง เป็นอำเภอเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในหุบเขา ซึ่งห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่โดยประมาณ 158 กิโลเมตร ผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นี่ส่วนใหญ่ จะเป็นชาว       ไทใหญ่ที่อพยพมาจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยอำเภอเวียงแหงตั้งอยู่เกือบจะติดชายแดน ซึ่งห่างจากชายแดนพม่าแค่เพียง 8 กิโลเมตรเท่านั้นเอง  ผู้คนที่นี่ยังคงใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย หากจะหาร้านเซเว่นที่เวียงแหงนั้นคงจะหาไม่เจอ คงมีแต่ร้านค้าของชำตามประสาชาวบ้าน ที่ท่านพอจะเลือกหาซื้อของใช้ส่วนตัวได้บ้าง แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นเวียงแหงยังคงมีประเพณีที่ได้ยึดถือ และปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างเป็นเอกลักษณ์ของที่แห่งนี้เลยก็ว่าได้ “ปอยส่างลอง” หลายๆคนอาจจะเคยได้ยินคำนี้กันบ้างหากท่านได้มีโอกาสมาเยือนเมืองเหนือ หนึ่งในประเพณีที่สำคัญของชาวไทใหญ่ ที่จะนำท่านเข้ามามาสัมผัส ที่เรียกได้ว่าเป็นเสน่ห์ที่สุดของเมืองนี้อย่างแท้จริง

            “ปอย” ในที่นี้หมายถึง งานเฉลิมฉลองอันเป็นมงคลในการบรรพชาสามเณร

            “ส่างลอง” นั้น คำว่า “ส่าง” หมายถึง สามเณร ส่วน “ลอง” หมายถึง หน่อเนื้อของผู้เป็นเทพยาดา ดังนั้น “ส่างลอง” จึงหมายถึง สามเณรที่เป็นหน่อเนื้อของผู้เป็นเทพยาดา

            “ปอยส่างลอง” เป็นประเพณีของชาวไทใหญ่ที่สืบทอดกันมาช้านาน โดยจะจัดขึ้นทุกปีในช่วงปลายเดือนมีนาคม ย่างเข้าสู่เดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวบ้านว่างเว้นจากการเกี่ยวข้าวแล้ว ปอยส่างลอง หรือที่หลายคนเรียกว่า งานบวชลูกแก้ว ถือว่าเป็นงานบุญใหญ่ งานปอยโดยทั่วไปเป็นงานบุญของทางภาคเหนือ การจัดงานบุญนี้ชาวบ้านจะมาช่วยกัน ทำให้เกิดความสามัคคีขึ้นในหมู่บ้าน ก่อนถึงวันงานผู้คนในหมู่บ้านจะมาช่วยกันตกแต่งของเพื่อนำไปทำบุญต่างๆ ซึ่งจะมีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า ซึ่งเรียกว่า “ดาคัว” คือการตกแต่งไทยทานถวายพระสงฆ์ แต่ปอยส่างลองนั้น เป็นงานบุญที่เกี่ยวกับการบวชสามเณร ที่คนทางเหนือเรียกกันว่า “บวชลูกแก้ว” คือลูกที่เปรียบเสมือนหัวแก้วหัวแหวนของผู้เป็นพ่อแม่นั่นเอง

            การบวชลูกแก้วของชาวไทใหญ่ จะมีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับการบวชสามเณรในที่อื่นๆ โดยชาวไทใหญ่ถือว่า ส่างลอง นั้นเปรียบประดุจดังเทพยาดา ที่มาปกปักรักษาทำให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข ยิ่งถ้าปีนั้นมีส่างลองมากเท่าใด ก็ถือได้ว่าความผาสุกมาบังเกิดขึ้นในหมู่บ้านมากเท่านั้น ผู้ที่มีความสุขที่สุดมากยิ่งกว่า ก็คือผู้เป็นพ่อและแม่ผู้ให้กำเนิด หรือผู้อุปการะส่างลอง ที่ได้เห็นลูกส่างลอง อยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ เป็นส่างลองที่ผู้เป็นพ่อและแม่ภาคภูมิใจ

            ในการนี้ผู้เป็นพ่อและแม่ของส่างลอง รวมถึงบรรดาญาติสนิทมิตรสหายจะต้องมีการจัดเตรียมสิ่งต่างๆเพื่อใช้ในการประกอบพิธีทุกอย่างรวมไปถึง การทำซุ้มที่พักของส่างลอง ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่เป็นแบบเฉพาะของปอยส่างลอง โดยญาติๆและเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง จะมาช่วยกันทำซุ้ม ที่ภายในมีแคร่ที่นอน และมีข้าวของเครื่องใช้และเสื้อผ้า เครื่องประทินของ     ส่างลองอยู่ภายในนั้นทั้งหมด โดยซุ้มนี้จะเป็นที่พักของส่างลองในช่วงของการประกอบพิธีกรรมบวชที่จะมีการจัดการฉลองขึ้น 7วัน 7 คืน โดยชาวบ้านถือว่า ส่างลองนั้นเปรียบประดุจดังเทพยาดา พวกเขาจะต้องดูแลเป็นอย่างดี ป้อนข้าวป้อนน้ำไม่ให้ขาด เวลาที่ส่างลองจะไปที่ใด ก็จะต้องมีชายฉกรรจ์คอยแบกส่างลองขี่คอไปในที่ต่างๆ โดยมิให้ส่างลองนั้นเดินบนพื้นดินเด็ดขาดเพราะชาวบ้านเชื่อว่า ผู้เป็นเทพจะเดินบนดินไม่ได้ต้องเทิดทูนไว้เหนือหัว

            สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ของการเตรียมตัวการเป็นส่างลองนั้น และเป็นสีสันของส่างลองมาก นั่นคือเสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องประดับ ที่ส่างลองใช้สวมใส่ โดยชาวบ้านจะให้ความสำคัญในการแต่งตัวให้กับส่างลองไม่น้อยไปกว่าการเตรียมการทำบุญอื่นๆเลย โดยชาวบ้านที่เป็นผู้หญิงจะรับหน้าที่ผู้ดูแลในการตกแต่งประดับประดาเสื้อผ้าเครื่องประดับให้สวยงาม ซึ่งลักษณะของเสื้อผ้าที่ส่างลองใช้สวมใส่ในการประกอบพิธีกรรมนั้นจะเป็นเครื่องทรงคล้ายชุดแสดงโขน แต่เอกลักษณ์ของลวดลาย และสีสันของเสื้อผ้าจะเป็นลวดลายที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศพม่าเป็นส่วนใหญ่ โดยเครื่องแต่งกายของส่างลองนั้นประกอบไปด้วย ชฎาที่ประดับไปด้วยดอกไม้หลากสีสัน เสื้อผ้าสีสด กรองคอ ที่ปักด้วยเลื่อมลวดลายที่มีการสลับสีสันอย่างสวยงาม

เช้านี้ในวันประกอบพิธีบรรพชาสามเณร ถึงแม้จะย่างเข้าสู่เดือนเมษายนแล้ว แต่อากาศของที่นี่ก็ยังสบาย และค่อนข้างหนาวเย็นอยู่ แต่ทุกคนต้องตื่นเช้าเป็นพิเศษเพื่อจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ในการแห่ส่างลอง ซึ่งส่างลองเองก็ต้องตื่นแต่เช้าตรู่ก่อนรุ่งสาง เพื่อให้ผู้เป็นพ่อและแม่อาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาด แล้วก็มาแต่งองค์ทรงเครื่องให้สวยงาม เสื้อผ้าชุดที่สวยที่สุดที่เตรียมไว้จะถูกนำออกมาสวมใส่ให้กับส่างลอง มีการประดับประดาตกแต่งอย่างสวยงามด้วยดอกไม้พลาสติกหลากสีที่ชฎาครอบศีรษะ สร้อยคอและเครื่องประดับต่างๆ นอกจากนั้นที่ขาดไม่ได้ จะต้องมีการแต่งหน้าส่างลองให้สวยงามมีสีสันราวกับเทพ มีการวาดลวดลายบนแก้มและเหนือคิ้วตามจินตนาการด้วยทานาคา ซึ่งเป็นแป้งที่ชาวไทใหญ่นิยมใช้ทาใบหน้าโดยปรกติก็ถูกนำมาใช้ในการนี้ด้วย

            การแต่งตัวให้ส่างลองนั้น จะต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนฟ้าสาง ที่ดวงตะวันของวันใหม่จะทอแสงสีทองจากขอบฟ้า ราวกับเป็นสัญญาณบอกให้ชาวบ้านและญาติๆผู้ดูแลส่างลองแต่ละคนจะต้องเตรียมตั้งขบวนแห่ส่างลอง เพื่อแห่ไปรอบอุโบสถถือเป็นการสักการะพระผู้เป็นเจ้า เสียงฆ้องเริ่มขึ้น    รับกับเสียงกลอง ฉิ่งและฉาบ ที่ดังตามมาเรื่อย ๆ ส่างลองรูปน้อยถูกแบกขึ้นใส่บ่า ด้วยรูปโฉมที่งดงาม ร่มสีทองที่กางรับด้านหลังยิ่งทำให้ส่างลองดูสง่ามาก ญาติ ๆจะนำไทยทาน หรือ “คัวตาน” ที่ได้ถูกตกแต่งเตรียมไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แห่เดินตามส่างลองไปด้วย เป็นแถวยาวอย่างเป็นระเบียบ

ส่างลองจะถูกแห่รอบอุโบสถ 3 รอบ ช่วงเวลาของการแห่รอบอุโบสถนี้เป็นไปอย่างสนุกสนาน ทั้งส่างลองเองและญาติๆจะเต้นระบำรำฟ้อนไปตามจังหวะเสียงฆ้อง กลอง ฉาบที่ดังไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อเวียนครบแล้วส่างลองจะถูกพามานั่งกันอย่างเป็นระเบียบเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา คือการสวดทำวัตรเช้า โดยญาติๆก็จะนั่งกันอยู่ด้านหลังคอยดูแลส่างลองอยู่ห่างๆ จนกระทั่งถึงเวลาฉันเพล จะมีการตั้งขันโตก ที่มีอาหารหลายอย่างให้ทานอย่างอิ่มหนำสำราญ โดยอาหารมื้อนี้ ส่างลองจะได้ทานร่วมกับผู้เป็นพ่อ แม่ และผู้อุปการะ เป็นครั้งสุดท้ายก่อนเข้ารับการบรรพชาโดยจะมีการป้อนข้าวให้กับส่างลอง เพื่อเป็นสิริมงคลทั้ง บิดา มารดา ผู้อุปการะ และรวมถึงตัวส่างลองเองด้วย

ในตอนบ่าย พิธีอุปสมบทจะถูกดำเนินการขึ้น ส่างลองจะต้องมีการทำพิธีขอขมาลาบวชจากผู้ให้กำเนิดส่างลอง โดยส่างลองจะนำดอกบัวหนึ่งดอกกราบผู้มีพระคุณนั้น ก่อนที่จะมีพระรุ่นพี่พาไปเปลี่ยนเป็นชุดผ้าเหลือง โดยจะถอดชุดส่างลอง และลบเครื่องสำอางบนใบหน้าออกจนหมด ถือว่าเป็นการถอดรูปจากส่างลองมาเป็นเณรน้อยที่จะบวชเรียนเพื่อดำเนินรอยตามพระพุทธศาสนา ส่วนคัวตานต่างๆที่เตรียมมาแต่แรกนั้นญาติๆจะนำมาถวายเณรใหม่นี้เพื่อใช้เป็นประโยชน์ในชีวิตของการบวชเรียนต่อไป 

พิธีกรรมทั้งหมดได้เสร็จสิ้นลง คงเหลือไว้แต่ความปิติยินดี และภาพความทรงจำที่ดีงาม ที่ยังคงเป็นความประทับใจให้กับผู้มาเยือน หากใครต้องการสัมผัสความเป็นเอกลักษณ์ที่ดีงามของประเพณีดั้งเดิมทางพระพุทธศาสนา ท่ามกลางความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ในหุบเขาชนบทที่ห่างไกล ปอยส่างลอง เวียงแหง ยังคงสืบทอดให้ท่านมาเยี่ยมเยียนไปทุกๆปี กระผมเชื่อว่าส่างลองรูปน้อย จะคงเป็นภาพประทับใจ และอยู่ในความทรงจำของท่านตลอดไป

 

 

ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : ภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
การบริการวิชาการสู่ชุมชนด้านการทำนุบำรุงมรดกทางวัฒนธรรม » ซุ้มประตูโขงวัดพระธาตุเสด็จ จังหวัดลำปาง
ซุ้มประตูโขงวัดพระธาตุเสด็จ นครลำปาง กับหลักฐานความงามในอดีตจากภาพถ่ายโบราณ ถ้ากล่าวถึงซุ้มประตูโขงสกุลช่างลำปางที่สวยงามอีกหนึ่งหลัง ในยุคพม่าปกครองล้านนา (พ.ศ. 2101-2300) คือซุ้มประตูโขง...
ซุ้มประตูโขง     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   ภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
ผู้เขียน ฐาปกรณ์ เครือระยา  วันที่เขียน 26/8/2564 13:47:29  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 28/3/2567 17:29:09   เปิดอ่าน 2308  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
การบริการวิชาการสู่ชุมชนด้านการทำนุบำรุงมรดกทางวัฒนธรรม » ช่อฟ้าแบบลำปาง
รูปแบบช่อฟ้ากลุ่มลำปางอันเป็นอัตลักษณ์เชิงช่าง ก็ต้องกล่าวถึงช่อฟ้าเซรามิกประดับวิหารวัดพระธาตุเสด็จ ที่เป็นช่อฟ้าเซรามิกรูปทรงเป็นพญานาค ที่ระบุว่าสร้างในปี จ.ศ. 1008 หรือ พ.ศ. 2189 ปัจจุบันจัดแส...
ช่อฟ้าลำปาง     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   ภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
ผู้เขียน ฐาปกรณ์ เครือระยา  วันที่เขียน 26/8/2564 13:42:04  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 28/3/2567 10:18:31   เปิดอ่าน 1677  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
การบริการวิชาการสู่ชุมชนด้านการทำนุบำรุงมรดกทางวัฒนธรรม » วัดร้างแสนขานกับจิตรกรรมเขียนสีกลางกรุ อายุ 600 ปี ค้นพบใหม่อีกแห่งในล้านนา
เจดีย์วัดร้างแสนขาน ตั้งอยู่บนถนนมณีนพรัตน์ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ปรากฏชื่อวัดแสนขาน ในเอกสารตำนานพงศาวดาร แต่สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นวัดที่ปรากฏชื่อในพงศาวดารโยนกว่า “...พญา...
จิตรกรรมวัดร้างแสนขาน, จิตรกรรมล้านนา 600 ปี     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   ภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
ผู้เขียน ฐาปกรณ์ เครือระยา  วันที่เขียน 5/9/2563 22:20:19  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 27/3/2567 7:30:29   เปิดอ่าน 2467  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
บทความ » อาหารพื้นบ้านของชาวล้านนา
ภาคเหนือหรืออาณาจักรล้านนาในอดีต เป็นดินแดนแห่งหนึ่งที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีตจวบจน ปัจจุบัน มีผู้คนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนแห่งนี้จากหลาย ๆ แหล่ง ทำให้ได้รับวัฒนธรรมหลากหลาย จากชนชาติ...
อาหารล้านนา     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   ภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
ผู้เขียน กัณณิกา ข้ามสี่  วันที่เขียน 11/10/2562 10:31:57  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 28/3/2567 8:47:02   เปิดอ่าน 5456  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง