สรุปสาระสำคัญของพระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2551
วันที่เขียน 12/9/2559 22:50:08     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 29/3/2567 17:52:39
เปิดอ่าน: 4115 ครั้ง

เนื่องจากปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งผลให้วิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาและขยายสาขาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมถึงวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ สมควรจัดตั้งสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและควบคุมการประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

สรุปสาระสำคัญของพระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2551 

1. พระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2551 กำหนดกลุ่มวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ออก เป็น 4 กลุ่มวิชา เพื่อให้ได้รับการส่งเสริม ตามที่ปรากฏในมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2551 ได้แก่                           

(1) กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ                           

(2) กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ                           

(3) กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร และ                           

(4) กลุ่มวิชาสหวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี                      

 

การกำหนดกลุ่มวิชาดังกล่าวจำแนกตาม ISCED/OECD/UNESCO และยังได้เทียบเคียงกับตำแหน่งกลุ่มสายงานของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการ พลเรือน จึงทำให้การกำหนดกลุ่มวิชานี้กว้างขวางและครอบคลุมทุกสาขาวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกคนสามารถเข้าร่วมเป็น สมาชิกและรับสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมจากสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีได้ทั้งหมด จากเดิมที่การดูแลผู้ประกอบวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดำเนินการโดย สมาคมต่าง ๆ ซึ่งอาจไม่ครอบคลุมทุกสาขาวิชาชีพ

 

2. กำหนดสาขาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม สำหรับสาขาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี้ หากปล่อยให้ผู้ที่ไม่มีความรู้ความสามารถเข้ามาดำเนินการ จะมีความ เสี่ยงสูงในการทำให้เกิดความเสียหายหรืออุบัติภัยร้ายแรงที่เป็นอันตรายโดย ตรงกับประชาชนและสังคมโดยรวมได้ ดังนั้นในพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงได้มีการกำหนดสาขาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมไว้ในมาตรา 3 เป็น 4 สาขาได้แก่

(1) สาขานิวเคลียร์                           

(2) สาขาการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านวิทยาศาสตร์ และการควบคุมมลพิษ

(3) สาขาการผลิต การควบคุม และการจัดการสารเคมีอันตราย และ                           

(4) สาขาการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ และการใช้จุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค                      

 

นอกจากนี้ในอนาคต หากปรากฏว่ามีสาขาวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งเกิดขึ้นใหม่ และมีลักษณะอันควรควบคุมเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็สามารถเสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้กำหนดสาขาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมเพิ่มเติมได้โดยตราเป็น พระราชกฤษฎีกา ดังปรากฏในมาตรา 6 ประกอบกับมาตรา 10 อนุมาตราที่ 5 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้                      

 

3. ไม่ใช้บังคับแก่ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีกฎหมายวิชาชีพอื่นอยู่แล้ว อาทิ วิศวกร แพทย์ เภสัชกร ฯลฯ ซึ่งวิชาชีพเหล่านี้แม้จะมีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ก็มีสภาวิชาชีพของตนเองทำหน้าที่ควบคุมและดูแลอยู่แล้ว ดังนั้นเพื่อป้องกันการทับซ้อนกันของการควบคุม ในพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงมีการยกเว้นการบังคับใช้ดังปรากฏในมาตรา 4

 

4. กำหนดให้มีสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามมาตรา 8 โดยกำหนดวัตถุประสงค์ อำนาจหน้าที่ ที่มาของรายได้ และองค์ประกอบของสมาชิกไว้ดังนี้                           

(1) วัตถุประสงค์ของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปรากฏในมาตรา 9 โดยมีสาระสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสให้สามารถเข้าเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยีได้ ส่งเสริมความสามัคคี และผดุงเกียรติ ตลอดจนควบคุมดูแลความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ ถูกต้องตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ                           

นอกจากนี้ ยังมีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ความรู้ และสร้างจิตสำนึกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ประชาชน ตลอดจนให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายและปัญหาด้าน วิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกด้วย                           

 

(2) อำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปรากฏในมาตรา 10 โดยมีสาระสำคัญในการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยกำหนดแผนการส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นที่สนใจแก่ เยาวชนและประชาชนทั่วไป เพื่อเสริมสร้างเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี                           

ส่วนการประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควบคุมนั้น สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับใบ อนุญาตทั้งการออก การพักใช้ และการเพิกถอนใบอนุญาต ตลอดจนการเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการกำหนดกลุ่มวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นอกจากนี้สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียัง มีอำนาจหน้าที่ในการออกข้อบังคับต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสมาชิก ใบอนุญาต และมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ การฝึกอบรม สิทธิประโยชน์ของสมาชิก การประชุม การเลือกตั้ง การสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและกิจการ อื่นๆ ตามที่ได้มีการกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้                           

(3) ที่มาของรายได้ ปรากฏในมาตรา 11 โดยกำหนดให้สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีรายได้จากค่าจดทะเบียน สมาชิก ค่าบำรุง ค่าธรรมเนียม เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ ตลอดจนผลประโยชน์จากการจัดการเงินและทรัพย์สินและการดำเนินกิจการของสภา วิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งที่เป็นดอกผล และรายได้อื่น ๆ                           

(4) องค์ประกอบของสมาชิกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปรากฏในมาตรา 13 โดยแบ่งสมาชิกออกเป็น 3 ประเภทดังนี้                           

  1. สมาชิกสามัญ เป็นบุคคลธรรมดาที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ สัญชาติไทย มีความรู้ในวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่เป็นผู้ประพฤติผิดจรรยาบรรณ ไม่เคยถูกจำคุก และไม่เป็นผู้มีจิตฟั่นเฟือนหรือเป็นโรคตามที่กำหนดในข้อบังคับ                           
  2. สมาชิกวิสามัญเป็นสมาคมที่มีวัตถุประสงค์หลักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยตรง
  3. สมาชิกกิตติมศักดิ์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งที่ประชุมใหญ่สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็น ผู้แต่งตั้ง                      

 

5. กำหนดให้มีคณะกรรมการสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้ง คณะกรรมการก่อตั้งสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามที่ปรากฏในบทเฉพาะกาลมาตรา 66 และคณะกรรมการสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามที่ปรากฏในมาตรา 21 ดังนี้                           

(1) คณะกรรมการก่อตั้ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นประธานกรรมการ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 7 คน และผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นกรรมการและเลขานุการ                           

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้นเพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ จนสามารถก่อตั้งสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นได้                           

 

(2) คณะกรรมการสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบด้วย                           

-          นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี                           

-          กรรมการซึ่งสมาชิกเลือกตั้งจากสมาชิกสามัญจำนวน 12 คน โดยต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมไม่น้อยกว่า 4 คน                           

-          กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

-          กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 4 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งตามคำแนะนำของกรรมการทั้ง 3 ประเภทข้างต้น                           

 

นอกจากนี้นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยียังต้องเลือกกรรมการซึ่งสมาชิกเลือกตั้งจากสมาชิกสามัญให้ทำ หน้าที่เป็น อุปนายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เลขาธิการ และเหรัญญิก อีกด้วย ดังปรากฏรายละเอียดในมาตรา 23 ทั้งนี้คณะกรรมการสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีมีอำนาจหน้าที่โดยส่วนใหญ่ในการบริหารและดำเนินกิจการของสภา วิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังปรากฏรายละเอียดในมาตรา 28                      

6. กำหนดให้มีการส่งเสริมการประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย กำหนดให้สมาชิกได้รับสิทธิประโยชน์ในการเข้าศึกษาอบรม ได้รับทุนการศึกษา การค้นคว้า การทดลอง การวิเคราะห์และการวิจัย รวมทั้งส่งเสริมให้เข้าร่วมประชุม หรือเป็นสมาชิกขององค์การวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับนานาชาติ รวมทั้งสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่อาจกำหนดขึ้นในภายหลัง ดังปรากฏในมาตรา 39                      

 

7. กำหนดให้มีการควบคุมการประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม โดย ใช้กลไกในการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบ คุม ส่งผลให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาต หรือถูกพักใช้ใบอนุญาต หากประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 3 หรือแสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าสามารถประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบ คุมได้ จะมีโทษตามกฎหมายสูงสุดถึงจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ยกเว้นเฉพาะการดำเนินงานในส่วนที่เป็นงานราชการในฐานะเป็นข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังปรากฏรายละเอียดในมาตรา 41 ประกอบกับมาตรา 56 และมาตรา 64                      

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม ต้องเข้ารับการฝึกอบรมการปฏิบัติงานเกี่ยวกับวิชาชีพวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีที่ควบคุม เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์อีกด้วย ดังปรากฏในมาตรา 44                      

 

8. กำหนดให้มีการควบคุมจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม โดยมีคณะกรรมการจรรยาบรรณเป็นผู้ทำหน้าที่พิจารณา และวินิจฉัยข้อกล่าวหาในเรื่องของการประพฤติผิดจรรยาบรรณ ทั้งนี้ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมหรือผู้ที่ได้รับความ เสียหายจากการดำเนินงานของผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม มีสิทธิกล่าวหาผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมที่ทำให้เกิด ความเสียหาย โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งโทษของการประพฤติผิดจรรยาบรรณนั้น อาจเป็นการว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกิน 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาต ทั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม อุทธรณ์คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการจรรยาบรรณได้ ดังปรากฏในมาตรา 46 ถึง มาตรา 55                      

9. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้กำกับดูแลสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ดำรงตำแหน่งสภานายกพิเศษแห่งวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ดังปรากฏในมาตรา 7 ประกอบกับมาตรา 12 และมาตรา 59                      

 ดังนั้นพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะเป็นกลไกในการบริหารจัดการ ส่งเสริมพัฒนาความรู้ ทักษะและขีดความสามารถให้มีมาตรฐานและยกระดับคุณภาพ รวมทั้งให้มีหลักประกันและความก้าวหน้าในสายวิชาชีพ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในการ ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้งจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใน การแข่งขันระดับสากลได้                      

พระราชบัญญัตินี้จึงเป็นหลักประกันในการคุ้มครอง ดูแล และส่งเสริมผู้ประกอบวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้มีกรอบการปฏิบัติงานที่ได้มาตรฐานโดยมีกฎหมายรองรับ และสามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งยังก่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาประสิทธิภาพและศักยภาพของผู้ ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกิดเครือข่ายความร่วมมือ ซึ่งจะเพิ่มบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพ

ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : กลุ่มงานช่วยวิชาการ
พัฒนาตนเอง-นงคราญ » “การผลิตคราฟต์เบียร์ ขนาด 20 ลิตร"
จากการเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร “อุดมคติ On Tour" เรื่องหัวข้อ “การผลิตคราฟต์เบียร์ ขนาด 20 ลิตร วันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ได้รับความรู้เกี่ยวกับการผลิตคราฟต์เบียร์ ...
กลุ่มงานช่วยวิชาการ  การผลิตคราฟต์เบียร์  เบียร์ (ฺBeer)  พัฒนาตนเอง  อบรม  อบรมเชิงปฏิบัติการ     กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร   กลุ่มงานช่วยวิชาการ
ผู้เขียน นงคราญ พงศ์ตระกุล  วันที่เขียน 9/1/2567 14:47:56  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 29/3/2567 16:18:37   เปิดอ่าน 504  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
การประชุมวิชาการระดับชาติ » งานประชุมวิชาการระดับชาติประจำปี 2566 เรื่อง นวัตกรรมเกษตรอาหาร และสุขภาพ
จากการได้เข้าร่วมประชุมวิชาการระดับชาติซึ่งการจัดการประชุมเพื่อส่งเสริมให้บุคลากรทางการศึกษา วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร อาหาร สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน...
  กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร   กลุ่มงานช่วยวิชาการ
ผู้เขียน ภานรินทร์ ปรีชาวัฒนากร  วันที่เขียน 4/1/2567 14:54:51  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 26/3/2567 11:37:34   เปิดอ่าน 108  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
การทบทวนวรรณกรรมอย่างมีระบบ (Systematic Review) » การทบทวนวรรณกรรมอย่างมีระบบ (Systematic Review) โดยใช้ chat gpt เข้ามาช่วย
การทบทวนวรรณกรรมอย่างมีระบบ (Systematic Review) เป็นกระบวนการที่เรียบร้อยและเป็นระบบในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยที่มีอยู่เพื่อสรุปข้อมูลและข้อสรุปที่มีค่าในสาขาวิชาต่าง ๆ การใช้ Chat GP...
Chat GPT Systematic Review     กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร   กลุ่มงานช่วยวิชาการ
ผู้เขียน ศิรินภา อ้ายเสาร์  วันที่เขียน 26/9/2566 16:11:39  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 29/3/2567 12:51:27   เปิดอ่าน 122  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง