บทเรียนแห่งการเรียนรู้ เรื่อง เทคนิคและวิธีการสอนรูปแบบ Scaffolding
วันที่เขียน 13/6/2561 16:33:49     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 28/3/2567 23:09:17
เปิดอ่าน: 20852 ครั้ง

เพราะการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด "เทคนิคและวิธีการสอนแบบนั่งร้าน (scaffolding) เป็นอย่างไร?" บทความนี้มีคำตอบ

บทเรียนแห่งการเรียนรู้ เรื่อง เทคนิคและวิธีการสอนรูปแบบ Scaffolding

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร สืบค้า

สาขาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร

มหาวิทยาลัยแม่โจ้

ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง เทคนิคและวิธีการสอนรูปแบบ Scaffolding สร้างเสริมการเรียนรู้ของนักศึกษา วันที่ 7 มิถุนายน 2561 ณ ห้องอิมพีเรียล ฮอลล์ 2 โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดยสำนักพัฒนาคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิทยากรคือ อาจารย์ ดร.ฟ้าสว่าง พัฒนะพิเชฐ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ การจัดการเรียนการสอนแบบ Scaffolding เป็นการจัดการเรียนการสอนเหมือนกับการทำนั่งร้านที่คนงานใช้ช่วยในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างให้สูงขึ้นไปในแนวตั้ง โดยครูหรือผู้สอนเปรียบเสมือนคนสร้างนั่งร้าน ซึ่งต้องมีฐานที่ทั้งแข็งแรงและมั่นคง ดังนั้นบทเรียนหรือหลักสูตรหรือหัวข้อที่จะสอนต้องมีความลุ่มลึกทั้งทางด้านแนวราบและแนวดิ่ง นั่นคือ มีทั้งความง่ายเพื่อเป็นฐาน และความยากเพื่อนำไปสู่เป้าหมายหรือการประยุกต์ใช้ อีกทั้งต้องสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบ ระดับความสูงต่ำและขนาดความกว้างยาวได้ตามความต้องการ เมื่อทำงานเสร็จนั่งร้านดังกล่าวจะสามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้ตามต้องการ ส่วนผู้เรียนเปรียบเสมือนกับคนงานที่ปืนป่ายนั่งร้านด้วยตนเองเพื่อขึ้นไปทำงานในแนวดิ่ง มุ่งสู่เป้าหมายตามแนวทางที่ผู้สอนวางไว้

การจัดการเรียนการสอนแบบ Scaffolding จัดตามทฤษฎี Zone of Proximal Development (ZPD) 3 ระดับ คือ ขั้นต้นที่ผู้เรียนยังไม่สามารถทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ด้วยตนเองอย่างง่ายๆ โดยอิสระ ขั้นที่สอง ผู้เรียนสามารถทำได้สิ่งหนึ่งสิ่งใดดีขึ้นหรือมากขึ้นได้เช่นกัน แต่ต้องให้ความช่วยเหลือจากผู้สอน จากเพื่อนๆ หรือผู้ที่มีศักยภาพมากกว่าโดยผ่านการปฏิสัมพันธ์กัน เพื่อช่วยผู้เรียนให้เรียนรู้หรือแก้ปัญหาหรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ซึ่งผู้เรียนไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นระดับการเรียนรู้ในแนวราบ และขั้นตอนสุดท้าย ผู้เรียนมีความพยายามหาความรู้ขั้นสูงขึ้นด้วยตนเอง ทำได้ด้วยตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นระดับการเรียนรู้ในแนวดิ่ง

การสอนแบบ Scaffolding มี 3 ขั้นตอนได้แก่ 1) การเลือกรูปแบบ (model) 2) การแยกย่อย (breakdown) และ 3) การให้กำลังใจ (encourage) หรือการให้ข้อมูลป้อนกลับ ขั้นตอนการเลือกรูปแบบเป็นการสร้างความสนใจเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความสนใจที่จะเรียนรู้ด้วยความสมัครใจ อาจใช้วิธีการสาธิต การปฏิบัติหรือทำให้ดู การบรรยาย การยกตัวอย่าง การใช้กรณีศึกษา การให้ดูภาพเป้าหมายที่ต้องการไปถึง การพูดจาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจว่าผู้เรียนสามาถทำได้ การใช้คำถามกระตุ้นเตือน ใช้เทคโนโลยีภาพเคลื่อนไหวและเสียง ให้ผู้เรียนสังเกตและวิเคราะห์ เป็นต้น ผู้สอนเป็นผู้เลือกเทคนิควิธีต่าง ๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมกับระดับการเรียนรู้ของผู้เรียน

ขั้นตอนการแยกย่อยเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด เป็นการแตกย่อยกิจกรรมให้เป็นงานย่อย ๆ เพื่อแจกแจงงานให้เป็นขั้นตอนไม่ซับซ้อน ลดขนาดของงานลงจากงานที่มีลักษณะง่ายไปหายาก เสมือนกับว่าผู้สอนเป็นผู้สร้างจุด (dots) หรือผู้ที่คอยให้การช่วยเหลือ และผู้เรียนเป็นผู้เชื่อมจุด (connecting the dots) ผ่านการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนสามารถปฏิบัติงานที่ผู้เรียนไม่สามารถทำให้สำเร็จด้วยตนเอง โดยการช่วยเหลือจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงและลดลง ในขณะที่ผู้เรียนจะค่อย ๆ เพิ่มความสามารถในการปฏิบัติงานด้วยตนเองมากขึ้น ซึ่งก่อนการแตกย่อยกิจกรรมนั้นผู้สอนควรจะหาช่องว่างที่ขาดหายไป (finding a gap) เพื่อทบทวนว่ากิจกรรมใดที่ผู้เรียนยังทำไม่ได้ กิจกรรมใดที่ทำได้ เพื่อที่ผู้สอนจะได้เน้นไปที่กิจกรรมที่ยังทำไม่ได้เป็นพิเศษ ซึ่งอาจใช้วิธีการเสริมสร้างทักษะ การให้ความรู้ การเลือกใช้คำศัพท์ การใช้ภาษาที่เหมาะสม การให้เคล็ดลับ การใช้เทคนิคพิเศษ การมียุทธศาสตร์ การนำเสนออุปสรรคหรือปัญหาที่คาดว่าจะเกิด การสร้างแรงบันดาลใจ เป็นต้น ส่วนขั้นตอนการให้กำลังใจหรือการให้ข้อมูลป้อนกลับหรือการเชียร์อัพ อาจทำได้ด้วยการชมเชย การให้ข้อคิดเห็น การวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน การวิจารณ์แบบสร้างสรรค์ การให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น เป็นต้น

ระหว่างขั้นตอนการเลือกรูปแบบกับการแยกย่อยกิจกรรมจะมีการปฏิบัติสัมพันธ์ 3 กลุ่มได้แก่ ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน (with teacher) ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน (with peers) และกับตัวเอง (with oneself) รูปแบบของการปฏิบัติสัมพันธ์เป็นได้ทั้งการพูดคุย การเขียน การคิด การพูดกับตัวเองแล้วอัด vdo ไว้ดู การเขียนบันทึกการเรียนรู้ (learning log) เป็นต้น

วิทยากรให้ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมใช้เทคนิคและวิธีการสอนรูปแบบ Scaffolding หัวข้อ “การนำเสนอเรื่องอย่างมีประสิทธิภาพ” โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนสามารถทำ presentation ได้อย่างน่าสนใจ กลุ่มของผู้เขียนได้นำเสนอขั้นตอนการเลือกรูปแบบ (model) ด้วยการฉาย presentation ที่ดีให้ผู้เรียนดู พร้อมทั้งชี้แจงถึงข้อดีของการทำ presentation ที่ดีเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียน ขั้นตอนการแยกย่อย (breakdown) เพื่อให้ผู้เรียนเชื่อมโยงจุด ประกอบไปด้วย

  1. รู้และเข้าใจเนื้อหาที่จะพูด
  2. หาคำสำคัญหรือ keywords
  3. ทราบเวลา background ของผู้ฟัง
  4. ทราบเวลาในการพูด
  5. ทำ presentation ที่ดีด้วยการเลือกเครื่องมือให้เหมาะสม เช่น การใช้ vdo การทำแผนภูมิ การทำกราฟ การแทรกภาพ เป็นต้น
  6. มีทักษะในการนำเสนอหน้าชั้น (good oral presentation) เช่น การใช้โทนเสียง การสบตา (eye-contact) และปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟังและผู้พูด การจัดลำดับการพูด การแก้ปัญหาเฉพาะ
  7. สรุป key messages

ขั้นตอนการชมเชยและให้กำลังใจ ทางกลุ่มนำเสนอว่าควรให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนว่าชอบ presentation ของใครมากที่สุดเพียงกลุ่มเดียว แล้วจัดเรียงลำดับคะแนนตามความถี่ที่ชอบ แล้วให้ผู้สอนให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงสำหรับกลุ่มที่ได้คะแนนน้อย

คำสำคัญ :
กลุ่มบทความ :
หมวดหมู่ :
แชร์ :
https://erp.mju.ac.th/acticleDetail.aspx?qid=803
ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : เรื่องทั่วไป
Active listening: ฟังอย่างไรให้ได้ยิน » Active listening: ฟังอย่างไรให้ได้ยิน
การฟังเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารระหว่างบุคคล หลายครั้งที่การสื่อสารนั้นไม่ได้ผล เพราะ "เราฟังแต่ไม่ได้ยิน" การฟังแต่ไม่ได้ยินเกิดขึ้นหลายครั้ง เพราะเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ผู้พูดกำลังสื่อ...
  บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   เรื่องทั่วไป
ผู้เขียน พูนพัฒน์ พูนน้อย  วันที่เขียน 6/9/2562 16:49:13  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 27/3/2567 9:16:34   เปิดอ่าน 3049  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
Creative Commons » จัดการลิขสิทธิ์โลกออนไลน์ ด้วยมาตรฐาน Creative Commons
ครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons: CC) เป็นองค์กรไม่แสวง กำไรที่สนับสนุนการใช้เนื้อหาโดยไม่ถูกจำกัดจากสัญญาอนุญาต สัญญา อนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์จะเอื้อให้มีการใช้สื่อทั้งทางภาพ เสียง ข้อมูล โด...
creative commons  ลิขสิทธิ์     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   เรื่องทั่วไป
ผู้เขียน อำนาจ ชิดทอง  วันที่เขียน 21/6/2562 15:11:08  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 28/3/2567 22:04:05   เปิดอ่าน 94697  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง