คณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา ศิษย์เก่า "มหาวิทยาลัยแม่โจ้" กว่า 5,000 คน ร่วมพิธีบำเพ็ญกุศล"สัตตมวาร"ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช"
วันที่ 20/10/2559    869 ครั้ง    ประเภท ข่าวกิจกรรม    ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ศูนย์กีฬากาญจนาภิเษก รัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ดร.อำนวย ยศสุข นายกสภามหาวิทยาลัย เป็นประธานนำคณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแม่โจ้ จำนวนกว่า 5,000 คน ร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลสัตตมวารอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพิธีถวายความอาลัยน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้

"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" องค์พระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนัก โดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยากของพระองค์เอง ทรงมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในด้านทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า สิ่งแวดล้อม และพลังงาน เพื่อประโยชน์ของภาคการเกษตรไทย ซึ่งเป็นอาชีพหลักของพสกนิกรชาวไทยมาตั้งแต่ในอดีต มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ถือเป็นสถาบันอุดมศึกษา ที่มีรากฐานทางการเกษตรที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณสนองงานด้านต่าง ๆ นับแต่ครั้งแรกที่พระองค์เสด็จฯมายังแม่โจ้ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2516 ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจกรรมองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (อกท.) หน่วยแม่โจ้ โดยมีอาจารย์วิภาต บุญศรี วังซ้าย นำคณะนักศึกษาเฝ้ารับเสด็จด้วยความปลื้มปิติ 

การสนองงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อาทิ โครงการพัฒนาบ้านโปงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่ วันที่ 2 มีนาคม 2521 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช มีพระราชกระแสรับสั่งให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หาลู่ทางเพื่ออนุรักษ์และพัฒนา "ต้นน้ำห้วยโจ้" และพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกในฤดูแล้งแก่ราษฎร ส่งผลให้ในปัจจุบัน "ป่าบ้านโปง" เป็นป่าใกล้เมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของชาวเชียงใหม่ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์ ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ดูแลร่วมกับชุมชน    

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กับโครงการหลวง ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2512 มาจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ร่วมสนับสนุนงานวิจัยค้นคว้าร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวงหลายส่วน มีพื้นที่ดูแลรับผิดชอบงานส่งเสริม จำนวน 5 แห่ง นอกจากนี้ยังมีศิษย์แม่โจ้กระจายตัวถวายงานในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทั้ง 38 แห่งถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวแม่โจ้ที่ได้ผลิตบัณฑิตคนเกษตรแม่โจ้ สนองงานในพระองค์ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ