คณะพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกับ GreenConnex ร่วมพัฒนากิจกรรม Organic Food Journey 3: The Soy Story ณ บ้านดอนเจียง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
วันที่ 21/06/2560    1,340 ครั้ง    ประเภท ข่าวกิจกรรม    ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

คณะพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกับ GreenConnex ร่วมพัฒนากิจกรรม Organic Food Journey 3: The Soy Story ณ บ้านดอนเจียง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันอาทิตย์ 18 มิถุนายน 2560

โครงการดังกล่าว เป็นงานบริการวิชาการเพื่อสังคมสนองยุทธศาสตร์ชาติในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศ บูรณาการความร่วมมือจากหลากหลายฝ่าย ทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้แก่โครงการพัฒนาฐานปฏิบัติการทางการศึกษาด้านการท่องเที่ยวเชิงศิลปวิทยาการอาหารนานาชาติ (International Gastronomic Tourism Consortium: iGTC) ประกอบไปด้วย ทีมคณาจารย์ และนักวิจัย จากคณะพัฒนาการท่องเที่ยว คณะวิทยาศาสตร์ คณะผลิตกรรมการเกษตร วิทยาลัยบริหารศาสตร์ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร รวมถึงชมรมผู้บริโภคอาหารอินทรีย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับโครงการเครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชน สู่สังคมแห่งการบริโภคอาหารอินทรีย์ (GreenConnex) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน (ISAC) ที่ปรึกษาด้านการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ (Communication Consultant) และ นักออกแบบสร้างสรรค์อาหาร (Food Creative)โดยได้นำหลักการสร้างนวัตกรรมประสบการณ์ หรือ Experience Innovation* ร่วมกับใช้เครื่องมือในการวิจัยด้านการออกแบบบริการ หรือ Service Design for Business มาประยุกต์ใช้เพื่อ ยกระดับแหล่งท่องเที่ยวชุมชน สู่แหล่งท่องเที่ยวคุณค่าสูง หรือ High Value Destination ต่อไป

พร้อมกันนี้ พ่ออนัน สมจักร ปราชญ์ท้องถิ่น และหัวหน้ากลุ่มเกษตรอินทรีย์ลุ่มน้ำแม่ฮาว ได้ร่วมสนทนาสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับความสำคัญของถั่วเหลือง และระบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยคณะทำงาน แบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการเป็น 2 กลุ่ม เพื่อปฏิบัติการ Experiential Workshop ในหัวข้อ “อยู่” อย่างไรให้ยืนยาว และ หัวข้อ แสวงหาความหมายของถั่วเหลืองในมิติวิถีวัฒนธรรมการบริโภคอย่างลึกซึ้ง ตามลำดับ ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ศึกษากระบวนการนำผลผลิตถั่วเหลืองไปแปรรูปเป็นขนมถั่วแปบโรยผงคินาโกะ และถั่วเน่าแข็บต้นตำรับสันป่ายาง “สูตรดั้งเดิม” จากนั้นได้ร่วมกันสะท้อนผลการเรียนรู้กิจกรรมที่ร่วมดำเนินการมาตลอดทั้งวัน ซึ่งได้รับเกียรติจาก อาจารย์ อนุวัต เชื้อเย็น คณบดีคณะพัฒนาการท่องเที่ยว และทีมงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นกระบวนกร โดยได้ข้อสรุปร่วมกันว่าชุมชนบ้านดอนเจียงมีความยั่งยืนของวัฒนธรรมดั้งเดิมนั้น เกิดจาก “พลังร่วม” จากทุกฝ่าย ประสานความสามัคคีกันร่วมรักษาความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ให้กับชุมชนแห่งลุ่มน้ำฮาว นำกระบวนการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน