ม.แม่โจ้ ร่วมจัดงานสัมมนาวิชาการ “การจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา ภูมิปัญญา ภูมิสังคม:กรณีลุ่มน้ำแม่กวง อำเภอดอยสะเก็ด – อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่”
วันที่ 28/02/2561    1,201 ครั้ง    ประเภท ข่าวกิจกรรม    ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมจัดงานสัมมนาวิชาการ “การจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา ภูมิปัญญา ภูมิสังคม: กรณีลุ่มน้ำแม่กวง อำเภอดอยสะเก็ด – อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่” ระหว่างวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2561 โดยมีอธิการมหาวิทยาลัย ผศ.ดร.จำเนียร ยศราช เป็นประธานในพิธีเปิดและบรรยายพิเศษ

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับ กลุ่ม Forum 21st สมาคมภูมินิเวศพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ คณะกรรมการลูกโลกสีเขียวภาคเหนือ เครือข่ายชุมชน เครือข่ายคณะสงฆ์ เครือข่ายลุ่มน้ำแม่กวง และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดการสัมมนา เรื่อง “การจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา ภูมิปัญญา ภูมิสังคม: กรณีลุ่มน้ำแม่กวง อำเภอดอยสะเก็ด –อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่” ขึ้น ระหว่างวันที่ 22 – 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ณ สวนทวีชล อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้ร่วมเข้าสัมมนาจากส่วนงานภาครัฐ องค์กรอุตสาหกรรม-เศรษฐกิจ สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนา เครือข่ายชุมชน จาก 50 หน่วยงาน จำนวน 200 คน
ในการสัมมนาวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผศ. ดร.จำเนียร ยศราช เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา และบรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง “สถาบันการศึกษากับการขับเคลื่อนศาสตร์พระราชา” โดยมี ผศ.ดร.ปฏิภาณ สุทธิกุลบุตร ตัวแทนคณะทำงานการจัดการความรู้ เป็นผู้นำเสนอสรุปผลการศึกษาการจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กวง อาจารย์ ดร.ทิพย์สุดา ตั้งตระกูล ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมี รศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ศรีเงินยวง คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม เป็นตัวแทนภาคสถาบันการศึกษา ร่วมเวทีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
สรุปผลสัมมนาในครั้งนี้ได้ว่า การจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กวงตามศาสตร์พระราชา ภูมิปัญญา ภูมิสังคม ประสบผล “คนอยู่กับป่า ได้อย่างเกื้อกูล” เป็นต้นแบบของการจัดการพื้นลุ่มน้ำ สภาพโครงสร้างทรัพยากรลุ่มน้ำมีความอุดมสมบูรณ์ มีรูปแบบเศรษฐกิจชุมชนที่สอดคล้องเหมาะสมกับลักษณะภูมิสังคม และมีการเปลี่ยนแปลงสภาพอุตุนิยมวิทยาที่สามารถตอบโจทย์การจัดการทรัพยากรในสภาวะวิกฤตโลกร้อนได้ โดยหัวใจสำคัญของการจัดการพื้นที่ คือ ชุมชนต้องเป็นชุมชนที่เรียนรู้ การจัดการโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ และมีการพัฒนาบนฐานทรัพยากรของตนเอง