มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ก่อเจดีย์ทราย และเล่นน้ำสงกรานต์ตามประเพณี

      สงกรานต์สุขใจ “ดื่มไม่ขับ ง่วงจอดพัก เล่นสาดน้ำด้วยความระวัง”

      ประวัติวันสงกรานต์ หรือ วันมหาสงกรานต์ ได้รับอิทธิพลมาจาก “เทศกาลโฮลี” ของประเทศอินเดีย แต่วันสงกรานต์ของไทยเปลี่ยนจากการสาดสี เป็นการสาดน้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่ร้อนในเดือนเมษายน และในอีกแง่หนึ่งมีความเชื่อว่าเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป ดังนั้น การเล่นสาดน้ำและประแป้งกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะไม่ถือโทษโกรธกัน

      คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต ที่มีความหมายว่า “การเคลื่อนย้าย” โดยเชื่อว่าในวันสงกรานต์ เป็นช่วงเวลาการเคลื่อนย้ายของจักรราศี อีกนัยหนึ่งก็คือการเคลื่อนสู่ปีใหม่ คนไทยจึงยึดถือวันสงกรานต์เป็น “วันขึ้นปีใหม่ไทย” มาตั้งแต่สมัยโบราณ จนกระทั่ง พ.ศ. 2483 ก่อนจะปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามแบบแผนสากลนิยม ซึ่งก็คือวันที่ 1 มกราคมของทุกปี ทั้งนี้ การละเล่นสงกรานต์ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า กัมพูชา ลาว รวมถึงบางพื้นที่ของเวียดนาม จีน ศรีลังกา และอินเดีย

      กิจกรรมช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ นิยมทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ เล่นสาดน้ำ ประแป้ง รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ คนทำงานต่างจังหวัดหรือไกลครอบครัว ก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อฉลองวันปีใหม่ไทย รวมถึงกล่าวคำอวยพร “สุขสันต์วันสงกรานต์” และ “สวัสดีวันสงกรานต์” ให้แก่กัน นอกจากนี้ แหล่งท่องเที่ยวสำหรับจัดงานเทศกาลสงกรานต์ ก็สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้วันสงกรานต์ของไทยมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก

       อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา

      ทั้งนี้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ถือเป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ลำดับที่ 4 ของประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้แก่ “โขน” (Khon, masked dance drama in Thailand) ในปี 2561, “นวดไทย” (Nuad Thai, Traditional Thai Massage) ในปี 2562 และ “โนรา” ของภาคใต้ (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) ในปี 2564

ปรับปรุงข้อมูล : 13/4/2567 22:35:29     ที่มา : มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร     จำนวนผู้เปิดอ่าน : 605

กลุ่มข่าวสาร : ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวล่าสุด