ขุมทรัพย์สีเขียวแห่งเขลางค์นคร
วันที่เขียน 13/1/2554 13:16:09     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 2/5/2567 20:34:30
เปิดอ่าน: 11418 ครั้ง

จากการเดินทางมาสำรวจพื้นที่ในครั้งนี้ ทำให้ผู้เขียนตระหนักถึงทรัพยากรที่มีค่าของนครลำปาง ที่น้อยคนนักจะเห็นและให้ความสำคัญ หลายคนมองข้ามไป เป็นทรัพยากรที่มั่งคั่งและอุดมสมบูรณ์ อยู่ใกล้แทบปลายจมูกของทุกคน ทั้งชาวเมืองและแขกผู้มาเยือนเลยทีเดียว

ขุมทรัพย์สีเขียวแห่งเขลางค์นคร

เรื่องโดย อาจารย์จรัสพิมพ์  บุญญานันต์ ภาพโดย อาจารย์อุบลรัตน์  เอี่ยมโสภานนท์


ตีพิมพ์ใน  “วารสารแม่โจ้ปริทัศน์”  ปีที่ 5 ฉบับที่ 5 (กันยายน-ตุลาคม). 2547.


 

     ขึ้นต้นหัวเรื่องมาฟังดูน่าตื่นเต้น  บางท่านอาจนึกไปว่าผู้เขียนคิดจะเปลี่ยนแนวไปเขียนนวนิยายผจญภัย  ตามล่าหาสมบัติในนครโบราณอันลึกลับไปเสียแล้ว  ที่จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวในยุคปัจจุบัน  เขลางค์นครที่อ้างถึงนั้นก็คือชื่อดั้งเดิมของจังหวัดลำปางตั้งแต่ในสมัยแรกๆของการสร้างเมือง  ซึ่งเป็นชื่อที่รู้จักกันดีทั่วไปมาจนถึงทุกวันนี้  สรุปความได้ว่าผู้เขียนกำลังจะเล่าถึงเรื่องของแหล่งของทรัพย์อันมีค่าของจังหวัดลำปาง  ซึ่งน้อยคนจะตระหนักถึงคุณค่าของทรัพย์นี้  แต่จะเป็นทรัพย์สินประเภทใด  มีค่ามากมายมหาศาลแค่ไหน  และเป็นของใครนั้น  คงต้องขออุบไว้ในตอนแรกนี้ก่อน  หากเผยเสียหมดในคราวเดียว  ท่านผู้อ่านคงหมดอรรถรสในการติดตามอ่านเป็นแน่

      เขลางค์นครหรือนครลำปางตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำวัง  ในหุบเขารูปแอ่งกระทะรายล้อมด้วยเทือกเขาสูงชัน  ตามหลักชัยภูมิการสร้างเมืองในสมัยล้านนาโบราณทั่วไป  แม่น้ำวังไหลคดเคี้ยวผ่านกลางเมืองจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้  ผู้เขียนแม้จะเคยมาเยี่ยมเยือนเมืองลำปางหลายหน  ทั้งที่เป็นการแวะพักระหว่างการเดินทาง  หรือมาเที่ยวพักผ่อนพร้อมซื้อเซรามิคติดมือกลับไปเป็นของฝากของที่ระลึกก็ตาม  ก็เป็นเพียงการทำความรู้จักกับเมืองลำปางในช่วงระยะเวลาอันสั้น  เกิดภาพคุ้นตาเป็นตำแหน่งแห่งที่ไป  แล้วแต่จะแวะที่ใดบ่อย  ที่คุ้นใจมากที่สุดเห็นจะเป็นข้าวต้มเลือดหมูควันกรุ่นอุ่นท้อง  ในยามเช้าตรู่ที่หน้าสถานีรถไฟที่งดงาม  โอบล้อมด้วยอาคารพานิชย์ที่สร้างจากไม้ยืนชิดเรียงรายให้บรรยากาศอันอบอุ่น  เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งที่ผู้เขียนจำเป็นต้องเดินทางจากเชียงใหม่  เพื่อไปยังกรุงเทพมหานคร  อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะผ่านเมืองลำปางบ่อยแค่ไหน  แต่เมื่อมีเหตุให้ผู้เขียนต้องพานักศึกษาไปสำรวจภูมิทัศน์ของเมืองนี้  เนื่องจากความต้องการของเทศบาลนครลำปาง  ที่ต้องการปรับปรุงภูมิทัศน์ทั้งหมดในเขตเทศบาลเมือง  จึงได้ติดต่อประสานงานมาที่ภาควิชาภูมิทัศน์และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  เพื่อขอคำแนะนำ  ทางภาควิชาฯ  จึงจัดให้โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา  เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการเดินทางของคณาจารย์และนักศึกษา  เพื่อไปสำรวจเก็บข้อมูลเบื้องต้น  เมื่อไปถึงก็ต้องสับสนจับทิศทางไม่ถูก  เกิดความรู้สึกว่าเมืองลำปางนี้ช่างกว้างขวาง  มีถนนหลายสายตัดผ่านกันวุ่นวาย  ย่านต่างๆของเมืองแผ่กระจายออกจากกันเป็นพื้นที่กว้าง  เนื้อของเมืองเก่าและเมืองใหม่ประสานกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน  จนยากที่จะจำแนกแยกแยะได้อย่างชัดเจน  จากการสำรวจเบื้องต้น  สรุปได้แค่เพียงว่าโครงสร้างของเมืองทอดตัวในแนวยาว  ตามแนวของแม่น้ำวังเพียงเท่านั้น 

      เล่ามาถึงตอนนี้  อาจมีผู้อ่านบางท่านคิดอยากขัดคอขึ้นมาได้ว่า  เขียนมาตั้งนานไม่เห็นกล่าวถึงขุมทรัพย์เสียที  ผู้เขียนจึงขอแย้มให้ทราบต่อไปอีกหน่อยว่า  จากการเดินทางมาสำรวจพื้นที่ในครั้งนี้  ทำให้ผู้เขียนตระหนักถึงทรัพยากรที่มีค่าของนครลำปาง  ที่น้อยคนนักจะเห็นและให้ความสำคัญ  หลายคนมองข้ามไป  เป็นทรัพยากรที่มั่งคั่งและอุดมสมบูรณ์  อยู่ใกล้แทบปลายจมูกของทุกคน  ทั้งชาวเมืองและแขกผู้มาเยือนเลยทีเดียว

     ในที่สุดชาวคณะสำรวจทั้งอาจารย์และนักศึกษา  ก็ได้กลับมาสำรวจทำความเข้าใจพื้นที่อีกหลายครั้ง  และเริ่มเข้าใจสภาพภูมิประเทศของพื้นที่ได้ดีมากยิ่งขึ้น  ภาพลักษณ์ของเมืองนครลำปางที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด  คือพื้นที่ศูนย์กลางเมืองลำปาง  บริเวณชายฝั่งของแม่น้ำวังที่คดเคี้ยวไปมา  ซึ่งเป็นที่รวมของส่วนราชการที่สำคัญหลายแห่ง  ทั้งเทศบาลนครลำปาง  ศาลากลางจังหวัด  ศูนย์ท่องเที่ยว  สถานีตำรวจ  ไปรษณีย์โทรเลข  และย่านตลาดเก่า  ภาพรวมของพื้นที่บริเวณนี้เห็นได้ชัดเจนจากรูปร่างของถนนที่ประกอบกันอยู่  มองคล้ายรูปร่างของเมืองโบราณ  คือรูปหอยสังข์  ทำให้ผู้เขียนเข้าใจผิดในครั้งแรกที่ได้เห็น  ว่าบริเวณนี้คือตัวเมืองเขลางค์นคร  ที่ถูกสร้างขึ้นมาแต่ครั้งสมัยพระนางจามเทวี  แต่เมื่อสืบค้นต่อมากลับพบว่า  ตัวเมืองโบราณแท้จริงแล้วตั้งอยู่ทางทิศเหนือของฝั่งแม่น้ำในพื้นที่เขตตำบลเวียงเหนือในปัจจุบัน  ไม่ใช่ในบริเวณชายฝั่งด้านทิศใต้อันเป็นที่ตั้งของส่วนราชการที่ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตไว้  แท้จริงแล้วพื้นที่ศูนย์กลางเมืองแห่งนี้  พึ่งเจริญรุ่งเรืองขึ้นในสมัยพระเจ้านรนันทชัยชวลิต  เจ้าผู้ครองนครองค์ที่  9  (พ.ศ.  2425-2440)  ตรงกับสมัยรัชกาลที่  5  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ในยุคนั้นเมืองนครลำปางมีบทบาทสำคัญ  ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการค้าไม้สักของภาคเหนือ  จึงมีย่านการค้าพานิชย์  บ้านพักคหบดี  รวมไปถึงสถานที่ราชการ  ตั้งอยู่และคงเหลือหลักฐานทางสถาปัตยกรรมให้เห็นมาจนถึงปัจจุบัน  ผู้เขียนก็มานึกแปลกใจว่าเพราะเหตุใด  ย่านศูนย์กลางเมือง  ซึ่งเกิดจากความเจริญทางด้านเศรษฐกิจในยุคหลังๆ  ไม่ได้เกิดจากการวางผังเมืองมาแต่เริ่มแรก  จึงมีรูปพรรณสันฐานของพื้นที่  เป็นรูปหอยสังข์ให้เห็นอย่างชัดเจนเช่นนี้  ในขณะที่ตัวเมืองเขลางค์นครโบราณที่แท้จริง  กลับถูกทำลายและกลืนเข้ากับการพัฒนาของเมืองในปัจจุบัน  เหลือให้เห็นเพียงคูเมืองและแนวถนนโบราณแต่เพียงส่วนน้อย  รวมไปถึงโบราณสถานประเภทวัดวาอารามบางแห่งเท่านั้น  ซึ่งหากผู้ที่เข้ามาในพื้นที่เมืองเก่ามิได้ค้นคว้าหาความรู้มาก่อน  ก็คงยากที่จะรับรู้ถึงการคงอยู่และความสำคัญของเมืองโบราณเขลางค์นครได้  ส่วนสาเหตุที่พื้นที่ศูนย์กลางส่วนราชการของเมืองมีรูปพรรณสันฐานเช่นนั้น  เมื่อได้สำรวจถึงสภาพภูมิประเทศของพื้นที่ในครั้งต่อมา  จึงเข้าใจว่าสืบเนื่องมาจากการที่สภาพภูมิประเทศของพื้นที่บริเวณดังกล่าว  มีลักษณะเป็นเนินหลังเต่าเตี้ยๆ  คล้ายเมล็ดถั่วทอดตัวตามแนวชายฝั่งด้านทิศใต้ของแม่น้ำวัง  เมื่อมีการตัดถนนรูปแบบแนวตาราง  ให้วางโค้งตามแนวที่สอดคล้องกับลักษณะของภูมิประเทศ  จึงเกิดลักษณะภาพรวมคล้ายหอยสังข์เช่นนั้นเอง  เรื่องนี้ให้บทเรียนว่าอย่าพึ่งด่วนสรุปเรื่องราวเพียงจากสิ่งที่มองเห็น  ต้องศึกษาให้ลึกซึ้งลงไปให้ดีเสียก่อน  นอกจากย่านศูนย์กลางราชการ  และลำน้ำวังอันคดเคี้ยวแล้ว  นครลำปางยังมีองค์ประกอบอื่นที่สำคัญที่มองเห็นได้อย่างเด่นชัด  คือแนวของถนนพหลโยธินและทางหลวงแผ่นดินหมายเลข  1  ต่างวิ่งขนานตามแนวเดียงกับแม่น้ำวัง  ขนาบย่านศูนย์กลางเมืองไว้ตรงกลาง  ถนนทั้งสองสายนี้เป็นเส้นทางเข้าสู่เมืองลำปางที่สำคัญ  นับแต่อดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

     เป้าหมายหลักในการสำรวจพื้นที่ในครั้งนี้  คือการสำรวจพื้นที่สาธารณะของเมือง  นับแต่ถนนสาธารณะ  สวนสาธารณะ  ไปจนถึงพื้นที่โล่งสาธารณะอื่นๆ  ว่ามีลักษณะและสภาพในปัจจุบันเป็นเช่นไร  และมีแนวโน้มในการที่จะพัฒนาต่อไปได้อย่างไรบ้าง  ก่อนเริ่มการสำรวจผู้เขียนคาดหมายว่านครลำปางคงจะมีลักษณะเช่นเดียวกับเมืองขนาดเดียวกันอื่นๆในประเทศไทย  คือมีสวนสาธารณะในเขตเทศบาลเมืองเมืองเพียง  1-2  แห่ง  นอกนั้นตั้งอยู่ห่างออกไป  เนื่องจากความหนาแน่นของชุมชนเมือง  ส่วนพื้นที่ริมแม่น้ำนั้นน่าจะมีพื้นที่สาธารณะกระจายเป็นหย่อมๆและส่วนใหญ่มักจะพบการบุกรุกยึดครองพื้นที่ริมน้ำปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป  เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า  พื้นที่ริมแม่น้ำเป็นพื้นที่ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ  ทั้งในด้านของความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรน้ำ  ดิน   และแร่ธาตุ  ในด้านการคมนาคมเข้าถึง  และในด้านของทัศนียภาพที่งดงามเหนือพื้นที่อื่นๆ  เหล่านี้ล้วนเป็นแม่เหล็กดึงดูดภาคธุรกิจทางการเกษตร  การท่องเที่ยว  พักผ่อนหย่อนใจ  หรือเพียงคหบดีผู้ปรารถนาเรือนหลังงามริมฝั่งแม่น้ำก็เป็นได้  แต่ครั้นเมื่อลงมือทำการสำรวจเข้าจริง  กลับได้พบกับความประหลาดใจ  ที่ชาวเมืองลำปางสามารถเก็บรักษาพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำส่วนใหญ่เอาไว้ได้  เพื่อสำหรับการใช้ประโยชน์ร่วมกันของคนในชุมชน  และยังสามารถสืบทอดเป็นมรดกสาธารณะของลูกหลานชาวลำปางต่อไปได้อีกด้วย

     ความประหลาดใจอันดับแรก  เกิดขึ้นเมื่อผู้เขียนพบว่า  สวนสาธารณะและพื้นที่สาธารณะที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครลำปางนั้นมีถึง  5  แห่ง  ซึ่งผ่านการออกแบบวางผังเช่นเดียวกับสวนสาธารณะมาตรฐานทั้งหลาย  ได้แก่  สวนหลวง  ร.  9  สวนสาธารณะเขลางค์นคร  สวนสาธารณะเทศบาลเมืองลำปาง  สวนสาธารณะเขื่อนยาง  และพื้นที่ลานโล่งสาธารณะบริเวณศาลหลักเมือง  นี่ยังไม่นับรวมสวนสาธารณะนอกเขตเทศบาลอีก  1  แห่งคือสวนสาธารณะหนองกระทิง  และนอกจากนี้ยังมีสนามกีฬาขนาดใหญ่ของทางเทศบาลซึ่งตั้งอยู่ห่างออกมาทางด้านทิศใต้  พื้นที่เหล่านี้มีคนมาใช้ประโยชน์อย่างคึกคัก  โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนและหลังเลิกงานหรือเลิกเรียน  และในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์  ความประหลาดใจเกิดขึ้นกับผู้เขียนอีกครั้ง  เมื่อได้ไปสำรวจพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำวัง  โดยเริ่มที่สวนสาธารณะเขื่อนยาง  ตั้งอยู่บริเวณเขื่อนยางกั้นแม่น้ำวังช่วงที่ไหลผ่านพื้นที่ตอนกลางของเทศบาลนครลำปาง  สังเกตเห็นว่าทางเทศบาลได้ตัดถนน  กว้างประมาณ  6  เมตร  พร้อมด้วยทางเท้าด้านข้างกว้าง  2  เมตร  ขนานริมฝั่งแม่น้ำเป็นแนวยาว  มาทราบวัตถุประสงค์ว่าจะให้เป็นเส้นทางรถม้าชมเมือง  การตัดถนนหรือทางเดินเท้าสาธารณะตามแนวแม่น้ำลำธารเช่นนี้  เป็นวิธีการป้องกันรักษาพื้นที่สาธารณะของทางรัฐ  ไม่ให้ถูกบุกรุกโดยเอกชน  การปฏิบัติเช่นนี้ได้ผลดีในพื้นที่ที่ยังไม่มีการบุกรุกแต่มีแนวโน้มว่าจะถูกบุกรุกในอนาคต  ผู้เขียนเองไม่ได้รู้สึกประทับใจกับวิธีการเช่นนี้เท่าไรนัก  ด้วยเห็นว่าไม่ได้เป็นการแสดงแนวทางการพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมชัดเจน  เพียงสักแต่ว่าสร้างกันเอาไว้ก่อนเท่านั้นเอง  ความสวยงามอะไรก็ไม่ค่อยจะมี  เพราะมีงบประมาณที่จำกัดและมีวัตถุประสงค์ที่คลุมเครือ  แต่วิธีการเช่นนี้เองที่สามารถช่วยรักษาพื้นที่สาธารณะของนครลำปางเอาไว้ได้  สภาพตลิ่งของพื้นที่ถูกดาดไว้ด้วยคอนกรีตแทบทั้งหมด  เพื่อป้องกันการพังทลายของแนวตลิ่งในฤดูน้ำหลาก  เรื่องผู้เขียนเองก็ไม่ค่อยเห็นด้วยนัก  ซึ่งจะขอแสดงความคิดเห็นต่อไปในตอนท้าย 

      หลังจากได้เดินสำรวจอย่างจริงจัง  ผู้เขียนและคณะผู้ร่วมงานจึงพบว่า  ทางเทศบาลสามารถทำสร้างเส้นทางรถม้าได้ยาวเกือบตลอดแนวริม  2  ฝั่งแม่น้ำวัง  ในเขตเทศบาลเมือง  เป็นระยะทางนับ  10  กิโลเมตร  โดยเว้นพื้นที่ที่มีการบุกรุกของชุมชนเพียงบางจุด  เช่น  บริเวณต้นลำน้ำทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น  นอกนั้นสามารถสร้างได้ตลอดแนวอย่างแท้จริง  บนเส้นทางเหล่านี้  เราสามารถเดินเลียบเลาะชายฝั่งแม่น้ำได้ทั้ง  ฝั่งโดยไม่มีอุปสรรคใดๆ  เนื่องจากถนนที่ค่อนข้างแคบ  และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าถนนปรกติ  ทางเข้าออกแคบและมีความลาดชันสูงในบางจุด  ทำให้จำนวนรถยนต์ที่วิ่งมีปริมาณเบาบางมาก  มีความปลอดภัยเหมาะแก่การสัญจรด้วยรถม้าและการเดินเท้า 

     มาถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านเริ่มรู้สึกทึ่งไปพร้อมกับผู้เขียนหรือยัง  ถ้ายัง  ลองจินตนาการดูถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ  ยาวนับ  10  กิโลเมตร  ตลอดแนว  ฝั่งแม่น้ำวัง  ที่ไหลผ่านกลางเทศบาลนครลำปางที่มีคนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น  พื้นที่เหล่านี้ร่มรื่นน่าชื่นใจด้วยพรรณไม้ที่งดงาม  ทั้งไม้ยืนต้น  และไม้ดอกไม้ประดับ  มีพื้นที่สำหรับนั่งพักผ่อน  ออกกำลังกาย  ชาวเมืองสามารถมาเดินเล่น  วิ่งออกกำลัง  สามารถพาครอบครัวหรือสัตว์เลี้ยงแสนรักมาพักผ่อน  หรือมานั่งตกปลาในมุมสงบยามเย็นได้  มีรถม้าพาชมบรรยากาศริมแม่น้ำที่เงียบสงบไม่วุ่นวาย  แวะสักการะพระแก้วมรกตที่วัดพระแก้วดอนเต้า  รับประทานอาหารพร้อมชมทิวทัศน์ริมฝั่งแม่น้ำในยามเย็น  เรื่องที่จินตนาการมานี้ยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์เต็มที่  100  เปอร์เซ็นต์  แต่เห็นได้ชัดเจนจากสภาพที่ปรากฏว่า  มีใครบางคน   หรือบางกลุ่มในหน่วยงานบริหารของภาครัฐกำลังผลักดันให้เรื่องนี้เกิดขึ้นอยู่  และแน่นอนว่าชาวเมืองลำปางต้องเล็งเห็นความสำคัญของพื้นที่สาธารณะของเมือง  จึงทำให้การพัฒนาเป็นไปได้เช่นนี้  อย่างไรก็ดี  การบริหารจัดการในรายละเอียด  ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคอีกมาก  สวนสาธารณะในเมืองส่วนใหญ่เริ่มชำรุดทรุดโทรม  พรรณไม้ที่มีส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้น  ขาดสีสันและชีวิตชีวาที่ดึงดูดใจ  ขาดความหลากหลายของกิจกรรม  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจเป็นหลัก  ทำให้มีผู้มาใช้สวนสาธารณะน้อยกว่าที่ควรจะเป็น  และมาใช้ในบางช่วงเวลาเท่านั้น  ส่วนพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำนั้น  ตอนนี้มีสภาพเป็นเพียงถนนคอนกรีตเลียบริมฝั่งแม่น้ำดาดด้วยคอนกรีต  ดูแข็งกระด้างขาดชีวิตชีวา  เรื่องการดาดคอนกรีตตลิ่งของฝั่งแม่น้ำนี้  แม้จะช่วยแก้ปัญหาเบื้องต้นของการพังทลายของดินในยามน้ำหลากได้  แต่ก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดีนัก  เนื่องจากไม่ได้คำนึงถึงการออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติ  แต่เป็นการออกแบบที่มุ่งจะเอาชนะธรรมชาติเป็นหลักใหญ่  จากบทเรียนของมนุษย์ในอดีตที่ผ่านมา  เราย่อมทราบดีว่าการเอาชนะธรรมชาตินั้นไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน  รังแต่จะก่อให้เกิดปัญหาใหม่ตามมาไม่มีที่สิ้นสุด  การดาดชายฝั่งด้วยคอนกรีตเป็นแนวยาวนับ  10  กิโลเมตรเช่นนี้  เป็นการเพิ่มพื้นผิวที่น้ำซึมผ่านไม่ได้  ขวางกั้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างแม่น้ำและผืนดิน  ทำให้น้ำไหลผ่านพื้นที่ด้วยความเร็วมากขึ้น  เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วม  แร่ธาตุทั้งหลายก็จะไหลผ่านเลยไปพร้อมกับสายน้ำ  ไม่ได้นำความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติมาสู่พื้นที่แห่งนี้ดังเช่นที่เคยเป็นมา  ทำให้เสียสมดุลของระบบนิเวศ  ปัญหาจะค่อยเกิดขึ้นและใช้เวลายาวนานก่อนที่ผลร้ายจะปรากฏออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน  การแก้ไขปัญหาจะทำได้ก็ต่อเมื่อชาวลำปางตระหนักถึงปัญหานี้  สำหรับผู้เขียนเองเห็นว่า  หากผู้ปฏิบัติได้อัญเชิญพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ในเรื่องของการป้องกันการพังทลายของดินด้วยการปลูกหญ้าแฝก  ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน  และเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม  มาประยุกต์ใช้กับสภาพพื้นที่ในปัจจุบัน  จะช่วยแก้ปัญหาอย่างถูกทางมากขึ้น  โดยทั้งนี้อาจเพิ่มการปลูกพืชคลุมดินเพิ่มความงามของภูมิทัศน์ในพื้นที่ส่วนที่ติดกับเส้นทางสัญจร  เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศที่สวยงามเหมาะแก่กิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ

     ท่านที่ติดตามอ่านบทความตั้งแต่ต้น  มาจนถึงตอนท้ายนี้  คงสามารถไขปริศนาของขุมทรัพย์สีเขียวแห่งนครลำปางได้อย่างแจ่มแจ้ง   นั่นก็คือพื้นที่สาธารณะในเมืองลำปางที่มีอยู่มากและมีความหลากหลาย  เพียงแต่ขาดการดูแลรักษาที่ดีและเหมาะสม  เปรียบได้กับขุมทรัพย์อันอุดมสมบูรณ์  รอการค้นหาหยิบเลือกมาเจียรนัย  ให้เกิดประกายอันมีค่า  เกิดประโยชน์และเกียรติภูมิแก่เมืองลำปางสืบไป


บรรณานุกรม

  1. ประวัติศาสตร์นครลำปาง  http://www.lmpng.go.th/lmp.html

ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ผังเมือง
งานบริการวิชาการและวิจัย » มือใหม่หัดบินทำแผนที่ด้วยโดรน Ep.1
โดรน (Drone) หรือ อากาศยานไร้คนขับ หรือ UAV (Unmanned Aviation Vehicle) แต่เดิมนั้น มีการใช้งานในหน่วยงานด้านความมั่นคง ในปัจจุบันได้มีการนำมาใช้ใน หลากหลายรูปแบบ เช่น ทางด้านการเกษตร การสำรวจ ตรวจ...
โดรน สถาปัตยกรรม ออกแบบ     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ผังเมือง
ผู้เขียน ธวัชชัย มานิตย์  วันที่เขียน 13/9/2562 14:31:05  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 1/5/2567 23:16:12   เปิดอ่าน 15856  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
กลุ่มบทความแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป » แนวทางการพัฒนาเมือง : สรุปมุมมองจากปาฐกถาพิเศษ โดย ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี
ข้อความต่อไปนี้เป็นการสรุปความเข้าใจของผู้เขียนที่ได้จากการฟังปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “เศรษฐศาสตร์กับการพัฒนาเมืองในอนุภาคลุ่มน้ำโขง” โดย ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ในเวทีการประชุมวิชาการระดับชาติด้านสถาปั...
การดำเนินโครงการพัฒนาโดยท้องถิ่น     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ผังเมือง
ผู้เขียน นิกร มหาวัน  วันที่เขียน 29/6/2559 21:25:48  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 1/5/2567 23:16:25   เปิดอ่าน 5332  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
กลุ่มบทความแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป » แนวทางการพัฒนาเมือง : น่าตื่นเต้นกับประชาชนเมืองขอนแก่น
การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่โดยท้องถิ่นเป็นการประยุกต์ใช้แนวความคิดไปสู่การปฎิบัติ ซึ่งต้องพึงพาการสนับสนุน(งบประมาณจากรัฐบาล)จึงเป็นข้อจำกัดในความสำเร็จของการดำเนินโครงการของท้องถิ่นมาโดยตลอด เมืองขอนแ...
การพัฒนาพื้นที่โดยท้องถิ่น     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ผังเมือง
ผู้เขียน นิกร มหาวัน  วันที่เขียน 25/6/2559 22:12:17  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 1/5/2567 23:16:19   เปิดอ่าน 4455  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง