ประสบการณ์การอบรมเพื่อพัฒนาพี่เลี้ยงด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด
วันที่เขียน 17/6/2559 10:35:09     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 29/4/2567 13:14:32
เปิดอ่าน: 5124 ครั้ง

เทคโนโลยีสะอาด อุ้ย! เค้าทำกันมาเป็น 10 ปี แต่อย่า....อย่าด่วนตัดสิน มันไมใช่เทคโนโลยีสะอาดที่พวกคุณคุ้นเคย หรือเคยได้ยิน มันเป็นเรื่องใหม่ ระดับโลก อยากรู้รายละเอียดต้องอ่านบทความฉบับเต็ม

ประสบการณ์การอบรมเพื่อพัฒนาพี่เลี้ยงด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด 

สุเนตร สืบค้า และ สุจิตรา รตนะมโน

คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ต.หนองหาร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่

การจัดกิจกรรม “นวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด โอกาสใหม่ของธุรกิจ SMEs” (The Global Cleantech Innovation Programme for SMEs in Thailand (GCIP-Thailand) เป็นความร่วมมือระดับนานาชาติภายใต้โครงการ GEF UNIDO Cleantech Programme for SMEs in Thailand ระหว่างประเทศไทยกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization : UNIDO) โดยได้รับงบสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility: GEF) เพื่อลดภาวะโลกร้อนด้วยการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology) เพิ่มมากขึ้น โดยจะมุ่งเน้นใน 4 สาขา ได้แก่ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Efficiency) การใช้พลังงานจากของเสีย (Waste to Energy) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) หน่วยดำเนินงานฝ่ายไทยนำโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

กิจกรรม “นวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด โอกาสใหม่ของธุรกิจ SMEs” ประกอบด้วยการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เกี่ยวกับกิจกรรม การพัฒนาพี่เลี้ยงด้านเทคโนโลยีสะอาด การพัฒนาผู้ประกอบการและผู้เริ่มธุรกิจ การคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมดีเด่น และการศึกษาวิจัยนโยบายภาครัฐ จุดเด่นของกิจกรรม “นวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด โอกาสใหม่ของธุรกิจ SMEs” คือ ผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกว่ามีนวัตกรรมดีเด่นจะได้เดินทางไปร่วมนำเสนอผลงานนวัตกรรมของตนในงาน “Cleantech Open Global Forum” ที่นครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา

เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ ทำหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ที่เริ่มต้น หรือดำเนินธุรกิจในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สามารถก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้อย่างมั่นคงและประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน พร้อมตอบรับนโยบายการพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการผลิตสะอาด เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ริเริ่มธุรกิจ (Start-ups) เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีการผลิตสะอาดและนำไปสู่การลดของเสียจากขั้นตอนการผลิตให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งเป็นการลดต้นทุนในการผลิต เพื่อส่งเสริมให้ทุกธุรกิจมีการนำเทคโนโลยีการผลิตสะอาดไปใช้เสริมประสิทธิภาพของผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ดังนั้นประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการดำเนินโครงการนี้คือ ได้รับการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจเทคโนโลยีสะอาด การได้เครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจกับผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีสะอาดทั่วโลก ส่งเสริมขีดความสามารถ SMEs และ Startups ให้เข้าถึงแหล่งทุนระหว่างประเทศ ส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดของ SMEs  รับทราบความก้าวหน้าการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันทั้งภายในและต่างประเทศ มีโอกาสทางการตลาดมากขึ้น ซึ่งขั้นตอนการดำเนินงานทั้งหมดพร้อมกำหนดการแสดงดังภาพที่ 1

ภาพที่ 1 ระยะเวลาและขั้นตอนในการจัดกิจกรรม “นวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด โอกาสใหม่ของธุรกิจ

            SMEs” ของประเทศไทย

Milestones ของกิจกรรมพัฒนาพี่เลี้ยง

วันที่ 29 มีนาคม 2559 : ผู้เขียนได้มีโอกาสไปฟังการสัมมนาเปิดตัวโครงการ GCIP Thailand ณ โรงแรมแคนทารี่ ฮิลล์ เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ในระหว่างงานมีการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานสมัครส่งนวัตกรรมประกวด และ/หรือ สมัครเป็นพี่เลี้ยง (Mentors) สำหรับผู้ประกอบการ SMEs และผู้เริ่มธุรกิจ (Start-ups) ที่เข้าร่วมการประกวดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสะอาด

วันที่ 9 เมษายน 2559 : กำหนดการลงทะเบียนยืนยันเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาพี่เลี้ยง ด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด ภายใต้โครงการ GEF UNIDO Cleantech Programme for SMEs in Thailand ออนไลน์

วันที่ 12 เมษายน 2559 : ได้รับแจ้งว่าผู้เขียนมีคุณสมบัติผ่าน สามารถเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาพี่เลี้ยงได้

วันที่ 25-29 เมษายน 2559 : การอบรมช่วงที่ 1 ผู้เขียนได้เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาพี่เลี้ยง ณ ห้อง Cosmos ชั้น 4 ณ โรงแรมเบส เวสเทิร์น พลัส แวนด้า แกรนด์ ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี อบรมหัวข้อมีดังนี้

  1. แนะนำโครงการ GCIP Thailand และบรรยายเกี่ยวกับข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงของโครงการ
  2. กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
  3. การจัดทำบัญชีธุรกิจ
  4. การวิเคราะห์ทางการเงินและการวางแผน
  5. การจัดการตลาด

วันที่ 11-13 พฤษภาคม 2559 : การอบรมช่วงที่ 2 ผู้เขียนได้เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาพี่เลี้ยง ณ ห้อง Basil ชั้น 3 โรงแรม เบสต์ เวสเทิร์น พลัส แวนดา แกรนด์ ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนันทบุรี อบรมหัวข้อมีดังนี้

     6. การวินิจฉัยธุรกิจและการลงทุน

     7. ความรู้เกี่ยวกับ LCA/เทคโนโลยีสะอาด

     9. การลงทุนและแหล่งสนับสนุนการลงทุน

วันที่ 24 พฤษภาคม 2559 : ได้รับอีเมลแจ้งว่า ผู้เขียนผ่านกระบวนการประเมินคุณสมบัติการเป็นพี่เลี้ยง โครงการ GEF UNIDO Cleantech Programme for SMEs in Thailand ประจำปี พ.ศ. 2559 เรียบร้อยแล้วดังคำสั่งแต่งตั้งพี่เลี้ยงตามแนบ

วันที่ 9 มิถุนายน  2559 : เข้าร่วมสัมมนาปฐมนิเทศพี่เลี้ยง Mentor Orientation ณ อาคารสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน ชั้น 5 ห้อง 501 พร้อมทั้งกรอกแบบฟอร์มความเชี่ยวชาญเฉพาะเพื่อนำไปพิจารณา Matching พี่เลี้ยงกับสถานประกอบการอย่างเหมาะสมและรอบคอบ ซึ่งในส่วนการเป็นพี่เลี้ยง และ SMEs และ Startups ที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว (Simi finalist) จะต้องการผ่านอบรมผ่าน Webinar จำนวนทั้งสิ้น 25 ครั้ง

สรุปกรอบความรู้จากการอบรมในกิจกรรมพัฒนาพี่เลี้ยง 

ผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นที่ปรึกษา (Consultant) มีบางส่วนเป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัย หรือนักวิชาการอิสระ หัวข้อการอบรมมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาความรู้ด้านการเงิน การตลาด การบริหารธุรกิจ มากกว่าการสร้างองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด ผู้เขียนขอนำเสนอหัวข้อที่อบรมได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

  1. ทักษะเชิงเทคนิค ภายใต้หัวข้อการอบรมทั้ง 8 วันมีเพียง 3 วันเท่านั้นที่เป็นการอบรมเชิงเทคนิคคิดเป็นร้อยละ 37.5 (หัวข้ออบรมที่ 1, 2 และ 7) ซึ่งอาจมีเหตุผลมาจากทักษะเชิงเทคนิคเป็นศาสตร์เฉพาะด้าน ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจและใช้เวลาในการบ่มเพาะความรู้ จึงจะเป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญทางวิชาการ มีความรู้ในเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยี สามารถคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลเชิงวิชาการได้อย่างถูกต้อง มีความสามารถในการสื่อสารได้หลากหลายช่องทาง ทั้งการนำเสนอข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย และการสื่อสารด้วยภาษามาตรฐาน ซึ่งศาสตร์เฉพาะด้านนี้ บุคคลภายนอก area ไม่สามารถเรียนรู้และเข้าใจได้ภายในระยะเวลาอันสั้น
  2. ทักษะเชิงการจัดการ ได้แก่ ความรู้ด้านการเงิน เศรษฐกิจ ธุรกิจ และการเป็นผู้ประกอบการ หัวข้อการอบรมพี่เลี้ยงส่วนใหญ่เน้นความรู้ด้านนี้คิดเป็นร้อยละ 62.5 (หัวข้ออบรมที่ 3-5, 6 และ 8) เป็นความรู้เชิงการจัดการซึ่งต้องอาศัยบุคคลที่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจ หรืออยู่ในแวดวงธุรกิจ ส่วนคนที่อยู่นอก filed นั้นยากที่จะวิเคราะห์และสังเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาได้ ระยะเวลาที่จัดการอบรมก่อให้เกิดเพียงแค่ remembering และ understanding เท่านั้น (ภาพที่ 2) ไม่ได้ก่อให้เกิดความเข้าใจแก่นแท้ของศาสตร์ด้านนี้จริง การที่จะเข้าใจได้จริงต้องมีการทำจริงและเคยมีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาจริงมาก่อน

ภาพที่ 2 โครงสร้างที่เป็นผลจากการเรียนรู้ตามทฤษฎีของบลูม

การ Matching พี่เลี้ยงกับสถานประกอบการ ผู้เขียนคิดว่าต้องมีพี่เลี้ยงที่เป็นนักวิชาการที่รู้เรื่องเชิงเทคนิค (ข้อได้เปรียบของความเป็นนักวิชาการคือ ความสามารถในการหาข้อมูลที่น่าเชื่อถือ การวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล และการสื่อสารข้อมูลรวมทั้งการใช้ภาษามาตรฐานในการสื่อสาร) และนักวิชาการที่รู้เรื่องธุรกิจซึ่งหาได้ค่อนข้างยาก (Rare item) ในตัวพี่เลี้ยงคนเดียว ดังนั้นทางออกคือควรใช้พี่เลี้ยงมากกว่า 1 คนโดยหนึ่งคนรู้เรื่องทางเทคนิคและอีกหนึ่งคนรู้ทางธุรกิจ ซึ่งอาจไม่ยากเกินไปที่จะหาได้ แต่อย่างไรก็ตามการเป็นพี่เลี้ยงในโครงการนี้เป็นรูปแบบของอาสาสมัคร (Volunteer) การที่จะหาคนที่มีจิตอาสาโดยสมบูรณ์พร้อมตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประกวดอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ นัก

ข้อสรุปสำหรับหน่วยงานอุดมศึกษา ความรู้ด้านการเงิน เศรษฐกิจ ธุรกิจ และการเป็นผู้ประกอบการเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการพัฒนาบัณฑิตในศตวรรษที่ 21 ดังนั้นทุกหลักสูตรโดยเฉพาะหลักสูตรระดับปริญญาตรีที่บ่มเพาะและวางรากฐานสำหรับการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ควรจะต้องมีรายวิชาทางด้าน การเงิน เศรษฐกิจ ธุรกิจ และการเป็นผู้ประกอบการอย่างน้อย 2 รายวิชา และควรสอนไปให้ถึงการประยุกต์ใช้โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้บัณฑิตนำไปใช้ได้จริง

8 วัน 8 คืนที่อบรมกิจกรรมพัฒนาพี่เลี้ยง ผู้เขียนได้เรียนรู้ศาสตร์ที่แตกต่างไปจากศาสตร์ของตนเอง ได้รู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ ได้เพื่อนใหม่ ได้เห็นโลกที่กว้างขึ้น เป็นการสร้างทัศนวิสัยใหม่ ๆ และก่อให้เกิดความกระตือรือร้นในการทำงาน สุดท้ายขอขอบคุณคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สวทช. ที่ทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมดี ๆ ได้ออกไปหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้เพื่อนใหม่ ได้อัพเดตความรู้เพื่อนำมาใช้ในการทำงานและพัฒนาการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

คำสำคัญ :
กลุ่มบทความ :
หมวดหมู่ :
แชร์ :
https://erp.mju.ac.th/acticleDetail.aspx?qid=520
ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : เรื่องทั่วไป
Active listening: ฟังอย่างไรให้ได้ยิน » Active listening: ฟังอย่างไรให้ได้ยิน
การฟังเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารระหว่างบุคคล หลายครั้งที่การสื่อสารนั้นไม่ได้ผล เพราะ "เราฟังแต่ไม่ได้ยิน" การฟังแต่ไม่ได้ยินเกิดขึ้นหลายครั้ง เพราะเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ผู้พูดกำลังสื่อ...
  บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   เรื่องทั่วไป
ผู้เขียน พูนพัฒน์ พูนน้อย  วันที่เขียน 6/9/2562 16:49:13  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 27/4/2567 21:26:29   เปิดอ่าน 3071  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
Creative Commons » จัดการลิขสิทธิ์โลกออนไลน์ ด้วยมาตรฐาน Creative Commons
ครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons: CC) เป็นองค์กรไม่แสวง กำไรที่สนับสนุนการใช้เนื้อหาโดยไม่ถูกจำกัดจากสัญญาอนุญาต สัญญา อนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์จะเอื้อให้มีการใช้สื่อทั้งทางภาพ เสียง ข้อมูล โด...
creative commons  ลิขสิทธิ์     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   เรื่องทั่วไป
ผู้เขียน อำนาจ ชิดทอง  วันที่เขียน 21/6/2562 15:11:08  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 29/4/2567 12:20:41   เปิดอ่าน 95273  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง